เมื่อหน้าฝนมาถึง สิ่งที่ต้องเตรียมรับมืออย่างหนึ่งคือน้ำท่วม เพราะมักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน และถ้าน้ำมีปริมาณมากก็จะท่วมเข้ามาในบ้าน หรือถ้าหนักมากก็อาจต้องอพยพย้ายออกจากพื้นที่ทีเดียว ซึ่งเป็นภัยพิบัติที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากเผชิญ เพราะลำบากทั้งตอนเตรียมบ้านและตอนเก็บกวาดหลังน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องเตรียมป้องกันบ้าน รวมทั้งจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นและอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อม
10 วิธีรับมือน้ำท่วม

1. ติดตามข่าวสาร
ควรติดตามข่าวสารอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทางโทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต เพื่อให้รู้ทันสถานการณ์ต่างๆ จะได้เตรียมรับมือได้ทัน
2. เตรียมอุปกรณ์สื่อสาร
ควรเตรียมอุปกรณ์สื่อสารให้พร้อม เช่น โทรศัพท์มือถือ เพาเวอร์แบงค์ วิทยุ วอร์คกี้ทอร์คกี้ เพื่อติดต่อสื่อสารและติดตามข่าวสารได้ อีกทั้งควรเตรียมเบอร์ติดต่อหน่วยงานรัฐเพื่อให้ขอความช่วยเหลือได้เมื่อเกิดน้ำท่วม
3. ทำผนังกั้นน้ำ
ควรก่อผนังกั้นน้ำ โดยอาจจะก่อปูนซีเมนต์เป็นผนังสำหรับกั้นน้ำท่วมโดยเฉพาะ ซึ่งต้องคำนึงถึงความแข็งแรงเพื่อรับมือแรงดันน้ำได้โดยไม่แตกร้าว หรือจะนำกระสอบทรายมากองกั้นไว้ในช่วงฤดูฝนก็ได้ แต่กระสอบทรายห้ามพิงกำแพงเด็ดขาด เพราะจะเพิ่มแรงดันน้ำให้น้ำทะลักเข้ามาได้ง่าย
4. ระวังสัตว์พิษที่มากับน้ำ
ควรอุดรูต่างๆ ในบ้าน เพื่อไม่ให้สัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู หรือแมลงเข้ามาได้ หรือถ้ารู้ว่ากำลังจะเกิดเหตุน้ำท่วม ให้โรยปูนขาวล้อมรอบบ้านไว้ เพราะกันสัตว์เหล่านี้ได้ แต่ถ้าเกิดเหตุน้ำท่วมแล้ว ควรทาน้ำมันก๊าดไว้โดยรอบบริเวณที่ใช้อยู่อาศัย
5. เตรียมเสบียงและข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น
ควรเตรียมเสบียง ได้แก่ อาหารพร้อมรับประทาน น้ำดื่ม และยารักษาโรค โดยต้องตรวจสอบวันหมดอายุอยู่เสมอเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเมื่อต้องการใช้งาน

6. เตรียมอุปกรณ์ชูชีพ
ควรเตรียมเสื้อชูชีพและห่วงยาง เพื่อรับมือได้หากปริมาณน้ำท่วมพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว หรือจำเป็นต้องอพยพออกจากพื้นที่
7. เตรียมสารสกัดชีวภาพหรือ EM ไว้ราดส้วม
เพราะเวลาเกิดเหตุน้ำส้วม จะทำให้ระบบบ่อเกรอะเต็มไปด้วยน้ำ และทำให้ส้วมใช้งานไม่ได้ตามปกติ
8. เก็บของไว้บนที่สูง
ควรเก็บสิ่งของมีค่าและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ขึ้นไว้บนที่สูง เพื่อป้องกันการสูญหายหรือความเสียหายจากน้ำท่วม
9. ตัดไฟเมื่อเกิดน้ำท่วม
ควรสับคัตเอาท์หรือตัดกระแสไฟฟ้าในบ้านเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม เพราะเมื่อน้ำท่วมถูกปลั๊กไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าจะทำให้เกิดอันตรายได้ และเมื่อน้ำลดแล้ว ควรจะรออีก 1-2 วันเพื่อให้ความชื้นระเหยออกไป จึงค่อยใช้งานปลั๊กไฟ และหากยกคัตเอาท์ขึ้นแล้วไฟยังตัดอยู่ ควรเรียกช่างไฟมาตรวจสอบเพื่อความปลอดภัย

10. สำรวจความเสียหาย ทำความสะอาดและซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลด
พื้นกระเบื้องที่เป็นคราบตะไคร่ก็สามารถขัดทำความสะอาดได้ ส่วนผนังปูน ประตู หน้าต่าง ควรปล่อยให้แห้งสนิทก่อนค่อยซ่อมแซมพื้นผิว สำหรับพวกวอลล์เปเปอร์ ฝ้า ผนังยิบซั่ม ไม้อัดที่ไม่ทนต่อน้ำ ก็ต้องรื้อออกแล้วเปลี่ยนใหม่
การรับมือน้ำท่วมที่ดีที่สุดควรรับมือตั้งแต่ก่อนจะเหตุการณ์น้ำท่วม เพราะจะได้มีเวลาตรวจเช็คความพร้อมรอบบ้าน ปลั๊กไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า การตั้งทำนบกันน้ำท่วม รวมถึงเช็ควันหมดอายุของเสบียงอาหารและยาต่างๆ โดยสามารถเตรียมการณ์ล่วงหน้าก่อนน้ำท่วมได้หากเราคอยติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอโดยเฉพาะช่วงฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลากที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วมได้สูงกว่าฤดูอื่นๆ