การซื้อบ้านสักหลังถือเป็นความฝันของใครหลายๆ คน และนับเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตเพราะเป็นสินทรัพย์ที่ต้องใช้เงินก้อนโต ดังนั้นก่อนจะเซ็นรับบ้าน ควรพิจารณาและตรวจสอบตัวบ้านให้ละเอียดเพื่อให้ได้บ้านที่ได้มาตรฐาน ไม่มีจุดบกพร่อง สามารถใช้งานได้คุ้มค่ากับราคา ไม่ต้องเสียเงินเสียเวลาไปกับการซ่อมแซมบ้านที่ชำรุด ดังนั้นการตรวจรับบ้านจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพื่อให้บ้านได้ปรับปรุงซ่อมแซมจนสมบูรณ์ก่อนจะรับโอนเป็นบ้านของเรา

วิธีตรวจรับบ้านด้วยตัวเองก่อนรับโอน
1. เตรียมตัว โดยนัดหมายเจ้าหน้าที่
ควรนัดหมายเจ้าหน้าที่จากโครงการบ้านเป็นช่วงเช้า เนื่องจากถ้านัดช่วงเย็นอาจใช้เวลาตรวจจนถึงกลางคืนที่แสงไม่เพียงพอสำหรับการตรวจ และควรขอบันไดปีนจากทางโครงการเพื่อตรวจดูจุดต่างๆ ด้วย
2. เตรียมอุปกรณ์สำหรับตรวจรับบ้าน
สิ่งที่สำคัญคือกระดาษจดข้อมูลและปากกา เพื่อไม่ให้ลืมว่าตรวจเช็คอะไรไปแล้ว หรือขาดอะไรไป ควรทำเป็นแบบฟอร์มที่มีหัวข้อให้เช็คลิสต์ทีละข้อ และควรทำในกระดาษขนาด A4 เพื่อให้ง่ายต่อการถ่ายเอกสาร แต่ถ้าใครสะดวกการใช้แท็บเล็ต พร้อมกับปากกาแท็บเล็ตในการจดบันทึกก็สามารถใช้ได้ เพราะทำให้การบันทึกเอกสารเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ง่ายขึ้น สามารถแชร์ไฟล์ในอีเมลหรือโปรแกรมแชทอย่างรวดเร็ว
และอีกอย่างที่ลืมไม่ได้คือกล้องถ่ายรูป เพื่อถ่ายไว้เป็นหลักฐานและใช้ประกอบการรายงานทางโครงการว่าต้องการให้ซ่อมแซมจุดไหนบ้าง นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้สำหรับการตรวจสอบบ้าน ดังนี้
- ตลับเมตรหรือสายวัด วัดความยาวบริเวณต่างๆ ว่าตรงตามมาตรฐานหรือไม่
- อุปกรณ์ทำเครื่องหมาย เช่น เทปพันสายไฟ เทปกาวที่ไม่ทำให้พื้นผิววัสดุชำรุด
- คัตเตอร์หรือกรรไกร ใช้ตัดเทป
- ไฟฉาย ใช้ส่องดูในบริเวณที่สว่างไม่เพียงพอ
- ถังน้ำ ใช้เทน้ำเพื่อดูความเอียงของพื้นผิว
- เศษผ้า อุดท่อเพื่อดูการรั่วซึม
- ไม้ตรงยาว ใช้เพื่อดูความเรียบของพื้นผิว
- ลูกแก้วหรือลูกเหล็ก ใช้เพื่อดูความลาดเอียงของพื้นผิว
- ขนมปัง ใช้แทนสิ่งปฏิกูล สำหรับตรวจสอบการใช้งานของสุขภัณฑ์
- อุปกรณ์ไฟฟ้า ใช้ทดสอบระบบไฟภายในบ้าน
- โทรศัพท์บ้าน ใช้ทดสอบระบบโทรศัพท์

3. ตรวจบ้านตามเช็คลิสต์
วิธีการตรวจคือเริ่มจากประตูหน้าบ้าน ไล่ไปเป็นห้องๆ จนถึงห้องที่อยู่ด้านในสุด การตรวจไล่สายตาจากพื้นไปจนถึงฝ้าเพดาน โดยส่วนที่ควรเริ่มก่อนคือบริเวณนอกบ้าน ตามด้วยงานโครงสร้าง งานผนัง งานประตูหน้าต่าง งานบันได งานฝ้าเพดาน งานหลังคา งานระบบไฟฟ้า และงานสุขาภิบาล
3.1 นอกบ้าน ที่ต้องตรวจสอบมีดังนี้
- ดินถม
- การระบายน้ำ
- ประตูรั้วเหล็กหน้าบ้าน
- รั้วบ้าน
- งานสวน
- วัสดุปูพื้นบริเวณภายนอก
- งานที่จอดรถ
โดยเริ่มจากการใช้งานประตูรั้วบ้านว่าใช้งานได้ปกติดีหรือไม่ จากนั้นดูที่สวนว่าต้นไม้มีการแกะถุงพลาสติกก่อนปลูกและมีการย้ายมาปลูกอย่างถูกต้อง ดูระบบการระบายน้ำว่าใช้ได้หรือไม่ ที่สำคัญต้องดูระดับของพื้นผิว ทั้งในส่วนของดินถม การปูพื้น และบริเวณที่จอดรถ
3.2 งานโครงสร้าง ที่ต้องตรวจสอบมีดังนี้
- โครงสร้างของตัวบ้าน คือ เสา คาน ผนัง ต้องไม่ผิดรูปร่าง ไม่งอไม่แอ่น ไม่มีรอยร้าว
3.3 งานผนัง ที่ต้องตรวจสอบมีดังนี้
- ผนังภายในและภายนอก
- กระเบื้องติดผนัง
- งานวอลเปเปอร์
- ผนังแบบก่ออิฐฉาบปูน
- ผนังก่ออิฐมอญหรืออิฐมวลเบา
- ผนังไม้
ผนัง กระเบื้อง วอลเปเปอร์ ต้องมีพื้นผิวที่เรียบสม่ำเสมอกัน แนวดิ่งตั้งฉากกับพื้น กระเบื้องติดผนังต้องแนบสนิทกับผนัง ถ้าเป็นผนังก่ออิฐควรดูว่ามีสีหลุดร่อนหรือเป็นเชื้อราหรือไม่ ส่วนผนังไม้ต้องไม่แอ่นหรือโค้งงอ
3.4 งานประตูหน้าต่าง ที่ต้องตรวจสอบมีดังนี้
- การตรวจสอบการติดตั้งวงกบ
- การตรวจสอบประตูและหน้าต่าง
ในส่วนของวงกบต้องแนบติดกับผนัง ไม่มีรอยบิ่น มีการทำบังใบเรียบร้อย บานประตูต้องแนบสนิทกับวงกบเมื่อปิดประตู และตรวจสอบว่ามีการทำเสาเอ็นรอบวงกบหรือไม่ ส่วนประตูนอกจากการติดตั้งกับวงกบได้เรียบร้อย ต้องดูในส่วนการใช้งานต่างๆ คือ ที่ล็อก ลูกบิด บานพับ โดยใช้งานซ้ำๆ และออกแรงมากกว่าปกติ บานประตูต้องไม่ฝืด เมื่อปิดแล้วสามารถปิดได้สนิทเพื่อไม่ให้แมลงหรือสัตว์ตัวเล็กๆ เล็ดลอดเข้ามาได้ และอีกสิ่งที่ต้องสังเกตคือการยาแนวต้องต่อเนื่องตลอด ไม่มีช่องว่าง ซึ่งกาวยาแนวต้องยึดเกาะกับวงกบและขอบประตูเป็นอย่างดี
3.5 งานบันได ที่ต้องตรวจสอบมีดังนี้
- การตรวจสอบวัสดุปูพื้นทำขั้นบันได
- การติดตั้งราวบันได
ที่สำคัญคือบันไดแต่ละชั้นต้องขนาดเท่ากัน วัสดุที่ใช้ทำบันไดไม่ควรลื่น มีการติดตั้งจมูกบันได ส่วนราวบันไดก็ต้องมีความสูงที่ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัยแข็งแรง
3.6 งานฝ้าเพดาน ที่ต้องตรวจสอบมีดังนี้
- ฝ้าเพดานยิปซัมบอร์ด
- ฝ้าเพดานทีบาร์
- ฝ้าเพดานกระเบื้องแผ่นเรียบ
- ฝ้าเพดานแบบฉาบเรียบ
เนื่องจากฝ้าเดพานมีหลายประเภท จึงมีวิธีดูที่แตกต่างกัน แต่ลักษณะร่วมคือต้องดูรอยต่อว่าไม่เกยกัน มีความเรียบสม่ำเสมอ รอยต่อต้องไม่มีรอยแตกหรือน้ำรั่วซึม ถ้าเป็นแบบฉาบเรียบบริเวณรอยต่อต้องไม่เห็นรอยยาแนว
3.7 งานหลังคา ที่ต้องตรวจสอบมีดังนี้
- งานโครงสร้างหลังคา
- งานตัวหลังคา
- งานใต้หลังคา
ต้องตรวจสอบกระเบื้องปูหลังคา ว่าปูได้เรียบร้อย และไม่ทำให้เกิดการรั่วซึม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะอาจทำให้เฟอร์นิเจอร์เสียหายได้ โดยวิธีตรวจสอบอาจจำเป็นต้องจ้างรถน้ำมาทำฝนเทียม และควรปีนไปดูใต้หลังคาว่าปูกระเบื้องเรียบร้อยและไม่มีน้ำขังใต้หลังคา
3.8 งานระบบไฟฟ้า ที่ต้องตรวจสอบมีดังนี้
- งานตู้เมนไฟฟ้า
- ระบบไฟตัดอัตโนมัติ หรือ “เซฟทีคัท”
- ปลั๊กไฟนอกอาคาร
- สวิทซ์ไฟฟ้า
- ระบบน้ำร้อนและ ระบบปรับอากาศ
- งานระบบสื่อสาร
- งานสายไฟฟ้า
- กระดิ่งไฟหน้าบ้าน
- ตรวจดูระบบตัดไฟเมนเบรกเกอร์พร้อมแบ่งชั้นบน-ล่าง
การตรวจในเรื่องอุปกรณ์ให้ความสว่างทำได้โดยเปิดสวิตช์ไฟดูทั้งบ้าน และดูว่ามีส่วนใดผิดปกติ ทดสอบปลั๊กไฟ ดูการเดินสายไฟว่าเรียบร้อยเป็นระเบียบ ที่สำคัญคือต้องมีการเดินสายดิน และควรตรวจสอบระบบตัดไฟอัตโนมัติว่าใช้งานได้ หรือมีไฟรั่วหรือไม่
3.9 งานสุขาภิบาล ที่ต้องตรวจสอบมีดังนี้
- ระบบท่อน้ำดี
- ปั๊มน้ำ
- ถังเก็บน้ำ
- ระบบท่อน้ำเสีย
- ถังดักไขมัน
- ท่อระบายอากาศ
- ระบบน้ำประปา
- สุขภัณฑ์ในห้องน้ำ
ตรวจสอบว่ามีระบบน้ำรั่วซึมตามท่อน้ำต่างๆ หรือไม่ การทำงานของระบบปั๊มน้ำ มิเตอร์น้ำเป็นปกติหรือไม่ ถ้าปิดน้ำทุกจุดแล้วมิเตอร์น้ำยังมีตัวเลขหมุนอยู่แสดงว่าอาจมีน้ำรั่ว ในส่วนสุขภัณฑ์ในห้องน้ำต้องตรวจสอบว่ามีการใช้งานปกติ โดยลองใช้งานหลายๆ ครั้ง

4. สรุปงานและส่งแก้ไข
หลังจากที่ได้ตรวจรับบ้านพร้อมจดบันทึก และถ่ายรูปจุดต่างๆ ที่ต้องการให้โครงการซ่อมแซมแล้ว ควรจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อแจ้งให้ทางโครงการรับทราบ แสดงเป็นรายการพร้อมรูปภาพประกอบ เพื่อให้โครงการรับเรื่องไปดำเนินการต่อ โดยส่วนใหญ่แล้วเราไม่ควรเซ็นรับบ้านก่อนที่โครงการจะซ่อมแซมเสร็จ แต่ถ้าโครงการอ้างว่าอยากให้เซ็นรับก่อน ควรพูดคุยให้ชัดเจนในด้านการซ่อมแซม
การตรวจรับบ้านด้วยตัวเอง แน่นอนว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างคนมาตรวจบ้าน และทำให้มั่นใจเพราะได้ตรวจสอบด้วยตัวเอง แต่ทั้งนี้ในส่วนต่างๆ ที่ต้องอาศัยช่างที่ชำนาญ อย่างเช่น ระบบไฟ ระบบน้ำ บางส่วน ก็ควรให้ช่างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดู เพราะถ้าทำเองอาจก่อให้เกิดอันตรายได้