สระว่ายน้ำในบ้านเป็นฟังก์ชั่นเสริมที่หลายๆ คนอยากให้มีในบ้าน เพราะไม่เพียงไว้ใช้ออกกำลังกาย เล่นน้ำคลายร้อน แช่น้ำชิลๆ ในวันหยุด พื้นที่ริมสระน้ำยังใช้จัดปาร์ตี้ได้ด้วย ทั้งเล่นน้ำ สังสรรค์ หรือใส่ชุดว่ายน้ำสวยๆ มาประชันกันริมสระก็น่าสนุกไม่น้อย ดังนั้นใครที่บ้านพอจะมีพื้นที่ ก็คงคิดอยากสร้างสระว่ายน้ำไว้ในบริเวณบ้าน แต่การสร้างสระว่ายน้ำมีสิ่งที่ต้องพิจารณาหลายอย่าง รวมถึงมีสิ่งที่ต้องดูแลหลายด้าน และต้องดูแลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้มีสระว่ายน้ำสวยๆ ในบ้านอย่างที่ต้องการ
การสร้างสระว่ายน้ำในบ้าน
1. สำรวจบ้านตัวเองก่อน
การสร้างสระว่ายน้ำในบ้าน ต้องสามารถสร้างสระที่ไม่แคบเกินไปจนเวลาว่ายน้ำแล้วมือหรือเท้าฟาดกับขอบสระ ดังนั้นบ้านจำเป็นต้องมีพื้นที่พอประมาณ แต่ไม่ต้องถึงกับใหญ่มากก็ได้
2. รู้จักโครงสร้างของสระว่ายน้ำ
สระว่ายน้ำมีโครงสร้าง 2 แบบ ดังนี้
- สระว่ายน้ำคอนกรีต โครงสร้างและผนังจะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด มีความทนทานแข็งแรง เหมาะกับการออกแบบสระอย่างอิสระ
- สระว่ายน้ำสำเร็จรูป แยกย่อยได้อีกเป็น โครงสร้างที่เป็นพอลิเมอร์ สามารถนำมาติดตั้งบนโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กได้เลย กับโครงสร้างเหล็ก หรือพลาสติกหล่อคุณภาพดีแล้วปูด้วยผ้าไวนิลสำหรับสระว่ายน้ำ มีราคาถูก สร้างได้เร็ว แต่ไม่ทนทาน ต้องเปลี่ยนผ้าไวนิลทุก 10 ปี
3. เลือกระบบบำบัดน้ำ
ระบบบำบัดน้ำมีอยู่ 3 แบบ ดังนี้
- ระบบคลอรีน เป็นระบบฆ่าเชื้อโรคที่นิยมที่สุด คลอรีนอยู่ในรูปของผง เม็ด หรือของเหลว ตอนใช้ให้ค่อยๆ ละลายลงในสระจนได้ค่า pH ของน้ำอยู่ระหว่าง 7.2 – 7.8 แต่ถ้าน้ำในสระมีความเป็นด่างมากต้องเติมกรดลงไปเพิ่ม และถ้ามีค่าความเป็นกรดสูงเกินไปต้องเติมสารที่เพิ่มความด่าง เช่น Buffer หรือ Soda Ash การใส่คลอรีนลงไปในสระควรใส่ในช่วงเย็นหลังใช้งานสระน้ำเสร็จ จากนั้นเปิดเครื่องกรองน้ำทิ้งไว้ประมาณ 3-4 ชั่วโมง ไม่อย่างนั้นอาจทำให้ระคายเคืองผิวหนังได้
- ระบบน้ำเกลือ ระบบนี้ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ไม่ทำให้ระคายเคืองผิวหนัง แต่ราคาติดตั้งค่อนข้างสูง ประมาณ 40,000 – 50,000 บาท และมีความเป็นด่าง
- ระบบโอโซน ระบบนี้แพงที่สุดในบรรดาระบบทั้งหมด เป็นระบบที่ผลิตก๊าซโอโซนจากเครื่องอัดอากาศมาบำบัดน้ำโดยตรง ค่าติดตั้งราว 150,000 – 200,000 บาท แต่ข้อดีคือไม่ทำให้มีสารตกค้าง
4. เลือกรูปทรงสระ
รูปทรงสระว่ายน้ำมี 2 แบบ ดังนี้
- รูปทรงเรขาคณิต เป็นรูปทรงที่นิยม เช่น สี่เหลี่ยม สี่เหลี่ยมผืนผ้า
- รูปทรงอิสระ เป็นทรงที่ออกแบบได้ตามใจชอบ เช่น รูปทรงเมล็ดถั่ว แต่ต้องระวังไม่ให้มีซอกมุมมากเกินไป เพราะจะส่งผลต่อเรื่องการปูกระเบื้องและการปูผนัง และเรื่องการทำความสะอาดและดูแลรักษา
5. เลือกตำแหน่งของสระว่ายน้ำ
การตั้งสระว่ายน้ำ ควรตั้งอยู่ทิศเหนือหรือทิศตะวันออกเพื่อให้ตัวอาคารบังแดดให้ และไม่ทำให้แสงแดดสะท้อนผิวน้ำเข้าไปรบกวนภายในบ้าน
การดูแลสระว่ายน้ำในบ้าน
1. ตรวจการรั่วของสระน้ำโดยใช้กะละมัง
ถ้าระดับน้ำในสระลดลงผิดปกติ เป็นไปได้ว่าอาจเกิดรอยรั่วซึมในสระ ซึ่งการพิสูจน์สามารถทำได้ง่ายๆ โดยใช้กะละมังแบบไร้หูหิ้ว เติมน้ำลงไป นำไปลอยในสระน้ำ ทิ้งไว้ 2-3 วัน แล้วจึงมาตรวจดูระดับน้ำในกะละมัง ถ้ามีระดับที่เท่ากับระดับน้ำในสระแปลว่าไม่มีรอยรั่วซึม แต่ถ้ามีระดับน้ำมากกว่าระดับน้ำในสระ แปลว่าน้ำมีรอยรั่วซึม เนื่องจากน้ำในสระจะระเหยเพราะอากาศร้อนและแสงแดดเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ถ้ามีการลดลงผิดปกติให้รีบตรวจเช็ครอยรั่วซึมทันที
2. วัดระดับค่า pH อยู่เสมอ
ค่า pH ของสระน้ำควรอยู่ระหว่าง 7.2-7.8 โดยตรวจสอบค่า pH ของน้ำด้วยเครื่องมือตรวจสอบค่า pH ของน้ำ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไป วิธีใช้ก็ง่าย เพียงนำน้ำมาใส่ในหลอดทดสอบแล้วหยดน้ำยาทดสอบลงไป เขย่า แล้ววัดผลจากสีของน้ำ
3. ระดับน้ำต้องสูงกว่าสกิมเมอร์
ระบบสกิมเมอร์ คือระบบที่ช่วยในการหมุนเวียนของน้ำในสระ โดยมีช่องกรองเศษสกปรกอยู่ที่ขอบสระ ดังนั้นควรรักษาระดับน้ำให้อยู่สูงกว่าสกิมเมอร์เพื่อให้สกิมเมอร์กรองสิ่งสกปรกได้
4. อย่าลืมตรวจเช็กฮีทปั๊ม
ฮีทปั๊มคือเครื่องที่ช่วยปรับอุณหภูมิน้ำในสระให้พอดี ไม่เย็นหรือร้อนเกินไป ถ้ารู้สึกว่าอุณหภูมิน้ำในสระผิดปกติ ต้องตรวจเช็กฮีทปั๊มทันที
5. ทำความสะอาดเครื่องกรอง
เครื่องกรองในสระว่ายน้ำมี 3 ระบบ ดังนี้
- ระบบกรองด้วยผงกรอง ระบบนี้กรองน้ำได้ดีแต่ต้องใช้วิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การเติมน้ำยาปรับสภาพน้ำ
- ระบบกรองทราย เป็นระบบที่นิยมที่สุด
- ระบบกรองแบบกระดาษ โดยใช้วัสดุสังเคราะห์ที่คล้ายกระดาษมาเป็นตัวกรอง
ซึ่งแต่ละชนิดจะมีวิธีการทำสะอาดเครื่องกรองแตกต่างกันไป มีทั้งการทำความสะอาดแบบไม่เปิดฝาถังกรองหรือที่เรียกว่าแบบล้างย้อน กับแบบเปิดฝาเครื่องกรอง
6. ทำความสะอาดกระเบื้องในสระ
ทั้งพื้น และผนัง ต้องได้รับการทำความสะอาดเป็นประจำไม่อย่างนั้นจะเกิดตะไคร่น้ำ ทำให้สกปรกและเกิดอันตรายได้ โดยอุปกรณ์ที่เหมาะกับการทำความสะอาดสระน้ำ คือ แปรงพลาสติกสำหรับขัดสระว่ายน้ำ เครื่องดูดตะกอน โดยใช้แปรงขัดก่อนแล้วตามด้วยการดูดตะกอน
7. ทำความสะอาดขอบสระ
ทำได้ไม่ยากเพียงขัดถูขอบสระทุก 2-3 วัน เพื่อไม่ให้เกิดตะไคร่สะสมจนคนที่เดินรอบสระลื่นล้ม
จะเห็นว่าการสร้างสระว่ายน้ำในบ้าน และการดูแลสระว่ายน้ำมีความยุ่งยากพอสมควร ถ้าไม่มีกำลังทรัพย์และเวลาในการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้จะสร้างสระว่ายน้ำได้ แต่สุดท้ายก็อาจถูกปล่อยทิ้งร้างเพราะการดูแลที่ไม่ดีพอ ทำให้ไม่สามารถลงไปว่ายน้ำในสระได้นั่นเอง
Comments are closed.